10 คำถามยอดฮิตที่หมอเด็กเจอบ่อย

10 คำถามยอดฮิตที่หมอเด็กเจอบ่อย
  • พ่อแม่มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ มักมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและพัฒนาการของลูก เช่น ปัญหาไม่มีน้ำนม ปัญหาโภชนาการ ปัญหาพัฒนาการและการเจริญเติบโต
  • ในช่วง 3 ขวบปีแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยตามติดสุขภาพและพัฒนาการกับคุณหมออย่างใกล้ชิด
  • หมอเด็ก นอกเหนือจากการรักษาโรคแล้ว ยังช่วยตอบคำถามมากมายที่พ่อแม่อยากรู้ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องเลือกถามหมอเฉพาะทางแต่ละด้าน เพื่อให้คำตอบที่ตรงจุดและนำไปปรับใช้กับลูกได้อย่างถูกต้อง

การมีลูกทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ แต่ในความสมบูรณ์นั้น อาจมีความกังวลแฝงอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่กลัวว่าลูกจะมีปัญหาสุขภาพ ปัญหาโภชนาการ ปัญหาพัฒนาการที่ไม่เป็นไปตามช่วงวัย ดังนั้นการพบแพทย์แต่ละครั้งคุณพ่อคุณแม่มักพกพาเอาคำถามมากมายมาปรึกษาด้วย

10 คำถามยอดฮิตที่คุณหมอมักถูกถาม

1. ลูกควรกินนมแค่ไหนจึงจะเพียงพอ?

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการมีน้ำนมเพียงพอที่จะเลี้ยงเจ้าตัวเล็กด้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณหมอมีคำแนะนำในการให้นม ดังนี้

  • ทารกแรกเกิดจะกินนมทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ครั้งละ 1-2 ออนซ์ และต้องการเพิ่มเป็นครั้งละ 2-4 ออนซ์ ตามอายุที่มากขึ้น หรือ หรือเท่ากับ 5 ออนซ์/น้ำหนักตัว/วัน เช่น น้ำหนัก 4 กิโลกรัม ทารกจะต้องการนม 5.5 x 4 = 22 ออนซ์/วัน ทั้งนี้ สำหรับเด็กแรกเกิด – 6 เดือน การกินนมอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว เมื่ออายุมากกว่า 6 เดือนจึงค่อยให้ดื่มน้ำและกินอาหารเสริมได้ โดยอาจสังเกตจากการที่ลูกกินนมมากกว่า 32 ออนซ์ต่อวัน
  • ช่วงอายุ 4-5 เดือน คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามงดนมมื้อกลางคืน และงดให้ลูกดูดนมจากขวด หลังให้อาหารเสริมเมื่ออายุ 9 เดือน
  • เมื่ออายุ 1 ขวบขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่อาจงดให้นมบางมื้อ และเริ่มฝึกให้ลูกใช้ถ้วยหัดดื่ม รวมถึงให้รับประทานอาหารหลัก 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ และดื่มนมเสริมวันละ 2-4 แก้ว (หรือเท่ากับนม 16-32 ออนซ์)

2. ทำไมลูกไม่ตื่นกินนมกลางคืน?

ข้อนี้ถือเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้คุณแม่ส่วนใหญ่ แต่ใน 3-4 เดือนแรกคงยังไม่มีปัญหานี้ แต่หลังจากเมื่อเลยเวลาดังกล่าวนั้นอาจเกิดขึ้นได้  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นกังวล เพราะในความจริงแล้ว เมื่อเด็กมีอายุตั้งแต่  4 เดือนขึ้นไป สมองส่วนควบคุมการนอนหลับมีการพัฒนามากขึ้น เด็กๆ ต้องการการนอนหลับนานขึ้น โดยสามารถนอนยาวประมาณ 7-8 ชั่วโมง โดยไม่ต้องกินนมมื้อดึก ส่วนใหญ่เด็กที่ตื่นมากลางดึกไม่ได้เกิดจากการหิวนม  แต่ต้องการให้คุณแม่กล่อมนอน   คุณแม่ควรจับตัวหรือตบก้นให้ลูกหลับต่อ   ถ้าคุณแม่ให้นมทุกครั้งที่ลูกร้องกลางดึก  อาจสร้างนิสัยให้ลูกไม่สามารถนอนหลับต่อเองได้ โดยไม่ได้กินนม

3. ลูกท้องอืด ท้องผูก ท้องเสียต้องทำอย่างไร?

อาการท้องอืดของเด็กนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แพ้อาหาร   กินนมมากเกินไป หรือแม้แต่การร้องไห้มากไป ก็อาจทำให้ท้องอืดได้เช่นกัน  หากเกิดอาการท้องอืดเกิดจากการกินนมมากเกินไปคุณแม่ควรจับลูกเรอจะช่วยให้ลุกสบายท้องขึ้น เนื่องจากในนมแม่มีน้ำตาลแลคโตสมาก  สำหรับปัญหาท้องผูก สังเกตได้จากถ่ายเหมือนอึกระต่ายแม้จะถ่ายทุกวัน โดยเฉพาะในเด็กเล็กต่ำกว่า 6 เดือนถือว่าไม่ปกติ  คุณแม่ควรรีบพาพบคุณหมอ เพราะหากปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง ส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูก    ส่วนอาการท้องเสีย หากลูกถ่ายเหลวมาก หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มากกว่า 3 ครั้ง ภายใน 1 วัน  ควรรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากมีโอกาสเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ หรือขาดสารอาหารได้ 

4. ทำไมลูกชอบดูดนิ้ว?

เด็กเล็กๆ อายุ 4-5 เดือนดูดนิ้วมือถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังสำรวจร่างกายตนเอง คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรห้าม หรือดึงมือออก  แต่อาจเปลี่ยนไปหลอกล่อด้วยของเล่นให้ลูกจับแทน 

สำหรับเด็กโต อาจเกิดจากความเคยชิน หรือเป็นวิธีที่เด็กใช้ปลอบใจตัวเอง  ดังนั้นหากพบว่าลูกโตแล้วยังชอบดูดนิ้ว  คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือดึงนิ้วออกจากปากจนลูกตกใจ  แต่ควรหาของเล่นหรือกิจกรรมสนุกสนาน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจและให้เด็กๆ ฝึกพัฒนาการการใช้มือมากขึ้น

5. ลูกนอนหายใจเสียงดังอันตรายมั้ย?

ภาวะหายใจเสียงดังขณะหลับอาจเกิดจากหลายสาเหตุ  เช่น  เด็กเป็นหวัดคัดจมูก หรืออาจเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากภาวะต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์โต หรือปัญหาการนอนอื่นๆ  คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้  อาจส่งผลกระทบถึงอารมณ์และสมอง ทั้งในแง่ของการเรียนรู้และสมาธิ เนื่องจากนอนไม่เพียงพอ ถ้าทิ้งไว้ อาจทำให้เด็กมีอาการหายใจกระตุกเป็นเวลานาน จนเกิดการขาดอากาศในเวลานอนได้

6. โรคภูมิแพ้เป็นกรรมพันธุ์?

โรคภูมิแพ้เป็นโรคไม่ติดต่อและไม่ใช่การติดเชื้อ แต่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ เช่น พ่อหรือแม่เป็นโรคภูมิแพ้อาจส่งผลให้ลูกมีโอกาสเสี่ยงเป็นภูมิแพ้มากขึ้น  ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่มีภาวะภูมิแพ้สามารถพบคุณหมอเพื่อทดสอบภาวะภูมิแพ้ของลูกได้ ปัจจุบันมีวิธีที่จะช่วยลดโอกาสการเกิดภูมิแพ้ได้คือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 4-6 เดือน โดยหลีกเลี่ยงการดื่มนมวัวเป็นอาหารเสริมในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีแรก ซึ่งโอกาสที่เด็กที่แพ้นมวัวจะหายก่อนอายุ 1 ขวบมีประมาณ 50% และหายเมื่ออายุ 3 ขวบ มีมากถึง 80-90%

7. ทำไมลูกกินน้อยหรือเบื่ออาหาร?

หากเด็กๆ ไม่อยากรับประทานอาหาร นอกจากจะแสดงว่าเด็กไม่หิวแล้ว ยังสะท้อนถึงวินัยในการรับประทานอาหารด้วย เนื่องจากอาจถูกคาดหวังจากผู้ใหญ่ที่กังวลเรื่องพัฒนาการของเด็ก จนเด็กๆ  เบื่อหน่ายที่ต้องรับประทานอาหารมีประโยชน์ในปริมาณมาก  ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรแข็งใจไม่ให้ขนมขบเคี้ยวหรือนมระหว่างมื้อ และอดทนรอจนลูกรู้สึกหิวเอง  ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมอาหารรสชาติดีและมีคุณค่าในปริมาณที่เหมาะสม  โดยให้เด็กรับประทานด้วยตัวเองจนหมด หรือจนรู้สึกอิ่ม ซึ่งการกินอาหารแต่ละมื้อไม่ควรนานเกิน 30 นาที  และไม่ควรบังคับหรือยัดเยียดมากเกินไป

8. ทำไมลูกไม่พูด?

ปัญหาการพูดของเด็กพบได้บ่อย ทั้งเด็กไม่พูด พูดช้า และพูดภาษาต่างดาว

  • เด็กอายุตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ถ้ายังไม่พูดหรือไม่เข้าใจคำสั่ง ถือว่าเด็กมีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ
  • เด็กอายุ 2 ขวบ ควรเข้าใจคำพูดและสามารถบอกความต้องการของตัวเองอย่างง่ายๆ ได้ และแม้จะยังพูดเป็นภาษาต่างดาว แต่ทางการแพทย์ก็ไม่ถือว่าผิดปกติ เนื่องจากเด็กอาจขาดการกระตุ้นจากคุณพ่อคุณแม่ หรือดูทีวี/แท๊ปเล็ตมากเกินไป
  • เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป ควรพูดภาษาปกติและเข้าใจบทสนทนาได้ แต่ถ้ายังพูดภาษาต่างดาวอยู่ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเสริมพัฒนาการทางภาษาให้ลูก ๆ ได้ด้วยการอ่านหนังสือ เล่านิทาน หรือพูดคุย นอกจากจะช่วยเสริมทักษะด้านภาษาแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างความรักความผูกพันในครอบครัวอีกด้วย

9. ทำไมลูกขี้โมโห?

เด็กวัย 1-3 ปี  ปี เป็นวัยที่ยังคุมอารมณ์ตัวเองได้ไม่ดี  อีกทั้งยังไม่สามารถที่จะสื่อสารหรือแสดงออกได้มากพอ เด็กๆ จึงเลือกที่จะระบายออกมาด้วยการกรีดร้อง หรือทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายตัวเองโดยเฉพาะในเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จึงมักแก้ปัญหาด้วยการตามใจและให้ในสิ่งที่เด็กต้องการ ซึ่งทำให้เด็กจดจำและทำแบบเดิม การแก้ปัญหาที่ถูกวิธีก็คือ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรยินยอมให้ในสิ่งที่เด็กต้องการ แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจอารมณ์และความต้องการที่แท้จริงของเด็ก และค่อยๆ สอนให้เขาสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองต้องการออกมาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น ถ้าเด็กร้องกรี๊ดเสียงดัง คุณพ่อคุณแม่ควรยืนดูห่างๆ และรอให้เด็กสงบก่อนค่อยเข้าไปพูดคุย ก็จะช่วยให้เด็กเรียนรู้วิธีการจัดการและควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดีขึ้น

ในกรณีที่เด็กทำร้ายตัวเอง คนอื่น หรือทำลายข้าวของ คุณพ่อคุณแม่ควรจับเด็กมานั่งกอดไว้จนกว่าจะสงบ โดยให้กอดในขณะที่เด็กหันหน้าออก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กที่กำลังโกรธทุบตีคุณพ่อคุณแม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่เด็กก็จะต่อต้านและพยายามดิ้นมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็อาจต้องกอดให้แน่นขึ้น และต้องอดทนจนกว่าลูกจะสงบ   หากคุณพ่อคุณแม่ทำเช่นนี้ทุกครั้ง เด็กก็จะเรียนรู้ว่า การทำแบบนี้จะไม่ได้รับการตามใจ เด็กก็จะลดและเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ไปเอง

ในขณะที่เด็กอาละวาดคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุหรือสอนทันที เพราะจะทำให้เด็กยิ่งหงุดหงิดและไม่ฟัง  สิ่งสำคัญคือเมื่อเด็กสงบลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้สิ่งที่เด็กต้องการ  เนื่องจากเด็กอาจเข้าใจว่าถ้าอาละวาดแล้วก็จะโดนดุ แต่สุดท้ายก็ได้สิ่งที่ต้องการอยู่ดี แต่หากคุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีดุ ตี หรือตะโกนแข่งกับเด็ก สุดท้ายเด็กๆ จะซึมซับและเลียนแบบ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทน  ใจเย็น  และต้องใช้เวลา จนกว่าเด็กจะโตขึ้นและดีขึ้นเอง

10. ทำไมลูกชอบตีเพื่อน?

ปัญหาเด็กตีเพื่อน อาจเกิดจากการที่เด็กยังไม่รู้จักวิธีการสื่อสารบอกเพื่อความต้องการของตัวเอง และที่น่าตกใจคือเด็กๆ อาจเลียนแบบมาจากผู้ใหญ่  รวมถึงจากการดูทีวีหรือเล่นเกมที่ก้าวร้าว หากพบว่าลูกตีคนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องหยุดพฤติกรรมด้วยการไม่ตีหรือลงโทษลูกรุนแรง เช่น หากพบว่าลูกทำท่าจะทำร้ายคนอื่น ให้รีบจับแขนสองข้าง แล้วมองหน้าลูก พร้อมกับพูดเสียงเข้มว่า “หยุด” หรือ “ ไม่ตี” จากนั้นค่อยสอนว่าไม่แย่งของ ต้องรู้จักรอคอยและแบ่งปัน   และย้ำว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่อนุญาตให้ทำร้ายกัน

ในกรณีที่พบว่าลูกทำร้ายเพื่อนไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการลูกทันที พูดเสียงเข้มว่า “หยุด ไม่ตี” โดยให้รีบจับลูกแยกออกมาและพูดให้ลูกได้สติ ที่สำคัญคือไม่ควรทำโทษหรือตีลูกอย่างรุนแรง ไม่อย่างนั้นคุณพ่อ คุณแม่ จะกลายเป็นต้นแบบของความรุนแรงให้ลูกได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?