เลี้ยงลูกดาวน์ (ซินโดรม) ให้เป็นดาว

เลี้ยงลูกดาวน์ (ซินโดรม) ให้เป็นดาว

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะดาวน์ซินโดรมพบได้ 1 ต่อ 700-1,000 คนในเด็กเกิดใหม่
  • แม่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไปมีโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะเป็นดาวน์ได้ประมาณ 1 ใน 250 ส่วนแม่ที่อายุ 40 ขึ้นไปเสี่ยงถึง 1 ใน 70
  • การตรวจคัดกรองทางชีวเคมีโดยการตรวจเลือด ช่วงแม่อายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์ หรือการเจาะน้ำคร่ำช่วงอายุครรภ์ 16 -18 สัปดาห์ สามารถประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ได้
  • เด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมสามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ หากพ่อแม่นำลูกเข้ารับการส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่ช่วงแรกเกิด – 5 ปี

จากข้อมูลทั่วโลก พบตัวเลขภาวะดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) ในเด็กเกิดใหม่ 1 ต่อ 700-1,000 คน กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมเป็นโรคที่มีความผิดปกติของอวัยวะของร่างกาย ร่วมกับมีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา ดาวน์ซินโดรม สาเหตุ มาจากความผิดปกติของโครโมโซม คู่ที่ 21 ปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสให้เกิดภาวะดาวน์ซินโดรม คือแม่ตั้งครรภ์อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป  ซึ่งมีโอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ได้ประมาณ  1 ใน 250 และมีโอกาสเสี่ยง 1 ใน 70

หากแม่มีอายุ 40 ปี และเพิ่มมากขึ้น เมื่ออายุแม่เพิ่มขึ้น  เนื่องจากดาวน์ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ จึงสามารถตรวจคัดกรองและวินิจฉัยได้ตั้งแต่ในช่วงตั้งครรภ์

ดาวน์ซินโดรม ตรวจได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์

แม้ว่าดาวน์ซินโดรมเป็นกลุ่มโรคที่รักษาไม่ได้ แต่เราสามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองความเสี่ยงดาวน์ซินโดรมได้ก่อนเมื่ออายุครรภ์ 11 สัปดาห์ขึ้นไป  โดยมีวิธีการตรวจดังนี้

  • การตรวจคัดกรองโดยการตรวจเลือดคุณแม่ที่อายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์ เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดภาวะดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์  
  • อัลตราซาวนด์เมื่อมีอายุครรภ์ 11 – 14 สัปดาห์ โดยเป็นการตรวจอัลตราซาวด์วัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก หรือ NT (Nuchal Translucency) ถ้าพบว่าหนามากกว่าปกติ ทารกอาจมีโอกาสผิดปกติได้
  • การเจาะน้ำคร่ำ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมอยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 16 -18 เนื่องจากเป็นช่วงที่เซลล์ของทารกหลุดลอยอยู่ในน้ำคร่ำในปริมาณที่มาก   จึงสามารถนำลักษณะโครโมโซมมาตรวจเพื่อหาความผิดปกติได้

ลักษณะของเด็กดาวน์

เด็กดาวน์แต่ละคนมีความรุนแรงแตกต่างกันตามลักษณะความผิดปกติของโครโมโซม  แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกันและเห็นได้ชัดเจน คือ ศีรษะค่อนข้างแบนเล็ก ดั้งจมูกแบน ตาเฉียงขึ้น  โทนกล้ามเนื้ออ่อน ข้อต่อ เอ็นยืดหยุ่นง่าย มือสั้น คอสั้น ลิ้นยื่น การเจริญเติบโตน้อยกว่าวัยและมีสติปัญญาช้ากว่าวัย รวมถึงอาจพบอาการออทิสติก (ASD) หรือสมาธิสั้น (ADHD) ร่วมด้วย นอกจากนี้เด็กดาวน์ซินโดรมอาจมีปัญหาสุขภาพและความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น การได้ยินบกพร่อง ตาเข หัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง เป็นต้น

การรับมือเมื่อลูกเป็นดาวน์

เด็กกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมสามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้  หากพ่อแม่ใส่ใจนำลูกเข้ารับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างรวดเร็วตั้งแต่ช่วงแรกเกิด – 5 ปี เด็กที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ควรได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ ตั้งแต่ช่วงแรกเกิด ทั้งในแง่การตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ รวมถึงติดตามความก้าวหน้าทางพัฒนาการและให้การฝึกกระตุ้นพัฒนาการตั้งแต่ในช่วงแรกที่สามารถตรวจพบได้ ซึ่งการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กกลุ่มอาการดาวน์ จะประกอบทั้งด้านของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อมัดเล็ก สติปัญญา การพูด รวมถึงการช่วยเหลือตนเอง ซึ่งควรทำเป็นทีม ทั้งแพทย์ นักสหสาขาวิชาชีพ รวมถึงให้คำแนะนำการฝึกกระตุ้นพัฒนาการแก่ผู้ปกครอง เพื่อกระตุ้นพัฒนาการต่อเนื่องได้เองที่บ้าน

เมื่อพบว่าลูกน้อยเป็น ดาวน์ซินโดรม

  • ทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ไม่กล่าวโทษว่าใครคือสาเหตุ ควรให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงมอบความรักความอบอุ่นแก่เด็ก
  • ตรวจสุขภาพตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเด็กดาวน์ซินโดรมส่วนใหญ่มักมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและระบบทางเดินอาหาร ปัญหาในการได้ยิน การมองเห็น รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายกว่าเด็กปกติ
  • จงเชื่อมั่นว่าลูกจะมีพัฒนาการเป็นขั้นตอนเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป แต่อาจล่าช้าและต้องใช้เวลามากกว่า ทั้งนี้หมั่นปรึกษาแพทย์ รวมถึงพยายามให้ลูกช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลูกสามารถใช้ชีวิตในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้
  • เข้ารับการฝึกส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยทีมสหวิชาชีพในโรงพยาบาลซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็กกลุ่มอาการดาวน์ เช่น  นักกิจกรรมบำบัดเพื่อส่งเสริมการเตรียมกล้ามเนื้อด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ นักกายภาพเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น ฝึกทรงตัว ฝึกนั่ง เดิน นักจิตวิทยาพัฒนาการ เพื่อส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการด้านการคิดและสติปัญญา และพบนักแก้ไขการพูด เพื่อฝึกพูดและสื่อสาร รวมถึงทำตามคำแนะนำของนักสหสาขาวิชาชีพ เพื่อทำการฝึกต่อเนื่องเองที่บ้าน และควรติดตามการรักษา ประเมินพัฒนาการ กับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
  • ให้การเลี้ยงดูเหมือนเด็กทั่วไป ไม่ควรตามใจ หรือให้อภิสิทธิ์มากกว่าลูกคนอื่น
  • สนับสนุนดูแลลูกเป็นพิเศษ เช่น อาจต้องเข้าโรงเรียนเฉพาะทาง หรือได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเมื่อเข้าโรงเรียน

เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์และการสื่อสารในปัจจุบัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจโรคกลุ่มดาวน์ซินโดรมมากขึ้น อีกทั้งการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมยังสามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่หากลูกเกิดมามีภาวะดาวน์ซินโดรมแล้ว คุณพ่อ คุณแม่ ก็ควรดูแลลูกด้วยความรักความเข้าใจ และพร้อมส่งเสริมให้ลูกเราสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?