โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

HIGHLIGHTS:

  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease-IBD) เป็นกลุ่มโรคของการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร ที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด อาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ พันธุกรรม และสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกกลุ่มอายุ
  • ปัจจุบันคนไทยและชาวเอเชียมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น จึงพบการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังมากขึ้น
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง หากปล่อยทิ้งไว้หรือรักษาไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต รวมถึงเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่อีกด้วย

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease-IBD) เป็นกลุ่มโรคของการอักเสบในระบบทางเดินอาหาร แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบ (Ulcerative Colitis) และโรคโครห์น (Crohn’s disease)

ซึ่งอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ จะจำกัดอยู่เพียงบริเวณลำไส้ใหญ่ ขณะที่โรคโครห์น อาจเกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหารส่วนใดก็ได้ ตั้งแต่ปากไปจนถึงทวารหนัก ปกติมักเกิดที่ลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น

อย่างไรก็ตามทั้ง 2 โรคนี้ ส่งผลให้เกิดแผลและมีเลือดออกบริเวณระบบทางเดินอาหาร รวมถึงทำให้ลำไส้บีบตัวเร็วขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้อง ท้องร่วงอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย และน้ำหนักลด

สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด  แพทย์และผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่าอาจเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ มีการสร้างเม็ดเลือดขาวในเยื่อบุทางเดินอาหารมากเกินไป ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังและนำไปสู่การอุดตันของลำไส้

ทั้งนี้ พันธุกรรมก็อาจเป็นอีกสาเหตุสำคัญ  โดยเฉพาะหากสมาชิกในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นลำไส้อักเสบจะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าคนปกติถึง 20%

นอกจากนี้ยังพบว่า ทั้งโรคโครห์นและลำไส้อักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกกลุ่มอายุ แต่โรคโครห์นมักได้รับการวินิจฉัยในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 – 30 ปี ในขณะที่โรคลำไส้อักเสบมักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 15-35 ปี รวมถึงชาวตะวันตกมีแนวโน้มเกิดโรคมากกว่าชาวตะวันออก แต่ปัจจุบันคนไทยและชาวเอเชียมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป มีการรับประทานอาหารแบบตะวันตกมากขึ้น จึงพบการเกิดโรคมากขึ้น

อาการของโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

อาการลำไส้อักเสบเรื้อรังมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่มีการอักเสบและความรุนแรงของโรค  โดยมีอาการทั่วไป ดังนี้

การวินิจฉัยโรคลำไส้อักเสบ

เนื่องจากโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังมีอาการคล้ายโรคทางเดินอาหารอื่นๆ การวินิจฉัยที่ชัดเจนจำเป็นต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการแยกวินิจฉัยโรค  ดังนี้

  • การตรวจร่างกาย โดยเน้นการตรวจบริเวณช่องท้องและทวารหนัก
  • ส่งตรวจตัวอย่างเลือดและอุจจาระ
  • ตรวจนับเม็ดเลือด เพื่อช่วยให้ทราบว่าผู้ป่วยสูญเสียเลือดระหว่างการขับถ่าย หรือมีภาวะโลหิตจาง
  • เอกซเรย์ลำไส้เล็ก หลังจากดื่มแบเรียม ซึ่งเป็นสารละลายที่ช่วยให้มองเห็นความผิดปกติในลำไส้เล็ก
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อตรวจบริเวณผนังลำไส้โดยตรง และสามารถนำเนื้อเยื่อออกมาจากบริเวณที่มีการอักเสบเพื่อส่งตรวจทางพยาธิ  วิธีนี้ยังเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการคัดกรองและเฝ้าระวังมะเร็งลำไส้ ช่วยให้ตรวจพบก้อนเนื้อได้ในระยะแรก ส่งผลให้มีการวางแผนรักษาได้ถูกต้อง แม่นยำและลดค่าใช้จ่าย

การรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง

  • ดูแลอาหารและโภชนาการ ยังไม่พบว่าอาหารชนิดใดที่สามารถรักษาหรือมีผลทำให้โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังแย่ลง แต่การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ในช่วงที่มีอาการ แนะนำให้รับประทานอาหารปริมาณน้อยตลอดทั้งวัน ดื่มน้ำให้พอเพียง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง งดดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • รับประทานยา เพื่อให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติ ผู้ป่วยควรรับประทานยาสม่ำเสมอและพบแพทย์ตามนัด เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กลับเป็นซ้ำ
  • ผ่าตัด กรณีที่ใช้ยารักษาแล้วแต่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ หรือผู้ป่วยที่มีเลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัด ส่วนใหญ่ในผู้ป่วยลำไส้อักเสบสามารถรักษาหายขาด แต่ไม่แนะนำในผู้ป่วยโรคโครห์น เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ทั้งในลำไส้ใหญ่และลำไส้เล็ก อย่างไรก็ตามหากผู้ป่วยเรื้อรังที่เกิดพังผืดในลำไส้ จนเกิดภาวะลำไส้ตีบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะขาดอาหาร แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเป็นกรณีพิเศษ

โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังอาจมีอาการไม่รุนแรง มักเป็นๆ หายๆ จนผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจ และปล่อยทิ้งไว้โดยไม่พบแพทย์  หากเกิดภาวะอักเสบต่อเนื่องและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากสูญเสียเกลือแร่ สารอาหาร และเลือดออกไปกับอุจจาระจำนวนมาก รวมถึงส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโลหิตจางและอาการแทรกซ้อนอื่นๆ  จนมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ในที่สุด


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ เรื่องอะไรได้บ้าง ? คลิกอ่านเพิ่มเติม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?