โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

Highlight:

  • โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในแถบแอฟริกา แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับพบการระบาดของโรคในประเทศแถบแอฟริกาและยุโรปมากขึ้น 
  • การติดต่อของโรคฝีดาษลิง จากมนุษย์สู่มนุษย์ เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจจากผู้ติดเชื้อ บาดแผล หรือสิ่งของที่ผู้ติดเชื้อสัมผัส การติดเชื้อผ่านละอองฝอยมักต้องใช้เวลาในการสัมผัสตัวต่อตัว 
  • วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณ 85% 

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคประจำถิ่นของประเทศในแถบแอฟริกา แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับพบการระบาดของโรคในประเทศแถบแอฟริกาและยุโรปมากขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์และองค์การอนามัยโลกต้องกลับมาเฝ้าระวังและหาสาเหตุของการกลับมาระบาดของโรคนี้อีกครั้ง 

โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) คืออะไร เกิดจากเชื้อไวรัสอะไร

โรคฝีดาษลิง ถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) จากการศึกษาลิงที่เกิดการติดเชื้อ และพบการติดเชื้อครั้งแรกในคนเมื่อปี ค.ศ. 1970 ณ ประเทศสาธารณรัฐคองโก หลังจากนั้นพบการติดเชื้อในประเทศแถบแอฟริกากลางและตะวันตก โดยประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากคือสาธารณรัฐคองโกและไนจีเรีย 

โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัส Orthopoxvirus ในวงศ์ Poxviridae ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox)

แนวโน้มการระบาดของโรคฝีดาษลิง

เดิมโรคฝีดาษลิงมีการระบาดอยู่เฉพาะในประเทศแถบแอฟริกา แต่หลังจากปี 2003 เริ่มมีการพบผู้ป่วยนอกประเทศแถบแอฟริกาโดยผู้ป่วยมีประวัติสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อจากสัตว์ที่นำมาจากทวีปแอฟริกา แม้จะไม่ทราบจำนวนที่แท้จริงแต่มีการประมาณว่าตั้งแต่ปี 2017 ประเทศไนจีเรียมีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย 500 รายและพบผู้ป่วยยืนยัน 200 ราย มีอัตราการเสียชีวิตที่ 3%  

ตั้งแต่ปี 2018 มีการพบผู้ป่วยนอกทวีปแอฟริกามากขึ้นเรื่อยๆ และในเดือนพฤษภาคมปี 2022 มีการพบผู้ป่วยหลายรายจากหลายประเทศนอกทวีปแอฟริกา แม้จะยังไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตแต่ก็ทำให้มีความสนใจศึกษาโรคฝีดาษลิงเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้างมากขึ้น 

การติดต่อและการแพร่เชื้อของโรคฝีดาษลิง 

การติดต่อจากสัตว์สู่คน  

ฝีดาษลิง ติดต่อได้จากการสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ไม่ปรุงสุก โดยในทวีปแอฟริกาพบโรคฝีดาษลิงในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู และลิงบางชนิด แหล่งรังโรคตามธรรมชาติยังไม่ชัดเจนแต่มีความเป็นไปได้สูงที่สุดที่จะเป็นกลุ่มสัตว์ฟันแทะ 

การติดต่อจากมนุษย์สู่มนุษย์ 

ฝีดาษลิงติดต่อจากมนุษย์ เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งทางเดินหายใจจากผู้ติดเชื้อ บาดแผล หรือสิ่งของที่ผู้ติดเชื้อสัมผัส การติดเชื้อผ่านละอองฝอยมักต้องใช้เวลาในการสัมผัสตัวต่อตัว จึงทำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่อยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อเพิ่มโอกาสติดเชื้อมากขึ้น มีโอกาสติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกผ่านทางรกหรือระหว่างคลอด  

โรคฝีดาษ ติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ 

ยังไม่มีการยืนยันว่าโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่ แต่ระยะหลังพบผู้ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มชายรักร่วมเพศจำนวนมากซึ่งมีรอยโรคบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์และใกล้อวัยวะสืบพันธุ์ จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือจากการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างกิจกรรมทางเพศได้ 

โอกาสการเกิดโรค และ กลุ่มเสี่ยงโรคฝีดาษลิง

จากลักษณะของการติดต่อ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อฝีดาษลิงมาก คือ

  • ผู้ที่อาศัยหรือมีการเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาด เช่น ในประเทศแถบแอฟริกา
  • ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์หรือผู้ป่วยที่ติดเชื้อ
  • บุคลากรทางการแพทย์
  • นักวิจัยที่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับเชื้อฝีดาษลิง
  • ผู้อยู่อาศัยร่วมกับผู้ติดเชื้อ
  • ผู้ที่มีกิจกรรมทางเพศกับผู้ติดเชื้อ
  • ผู้อาศัยติดเขตป่ามีโอกาสสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อมากขึ้น

แต่ความเสี่ยงในการแพร่เชื้อในลักษณะอื่นยังมีอัตราต่ำ 

อาการของโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)

โรคฝีดาษลิงมักมีระยะเพาะเชื้อ 6-13 วัน หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการ โดยอาการของโรคแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 

- อาการโรคฝีดาษลิง ระยะแรก (0-5 วัน)  

  • จะมีอาการไข้  
  • ปวดศีรษะ  
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  
  • ปวดหลัง  
  • เหนื่อยเพลีย  
  • ต่อมน้ำเหลืองโต  

ซึ่งอาการต่อมน้ำเหลืองโตเป็นอาการที่แยกโรคฝีดาษลิงออกจากฝีดาษและสุกใสได้ เนื่องจากโรคดังกล่าวมักไม่พบต่อมน้ำเหลืองโต 

- อาการโรคฝีดาษลิง ระยะผื่น (1-3 วันหลังจากมีไข้)

ผื่นจะมีมากที่ใบหน้าและแขนขามากกว่าลำตัว สามารถพบที่บริเวณมือ เท้า เยื่อบุในช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตาขาวและกระจกตาได้

ลักษณะของผื่นจะเริ่มจากเป็นผื่นแดง ผื่นนูน กลายเป็นตุ่มน้ำใส และกลายเป็นตุ่มน้ำแข็ง

หลังจากนั้นจะแห้งเป็นสะเก็ดและหลุดไป ในรายที่เป็นมากตุ่มอาจรวมกันเป็นขนาดใหญ่และหลุดลอกไปพร้อมผิวหนังได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายเองได้ใน 2-4 สัปดาห์  

ภาวะแทรกซ้อนของโรค อาจมีการติดเชื้อซ้ำ ภาวะปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในระบบประสาท สูญเสียการมองเห็นจากการติดเชื้อที่กระจกตา 

ความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต

แม้จะมีลักษณะและอาการคล้ายโรคฝีดาษ แต่ฝีดาษลิงมักมีความรุนแรงของโรคต่ำกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ อัตราการเสียชีวิตโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 0-11% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็ก ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงหลัง อัตราการเสียชีวิตลดลงเป็น 3-6% โดยผู้ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น คือ เด็ก วัยรุ่น และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากประชาชนวัยผู้ใหญ่บางส่วนเคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษมาก่อน ซึ่งมีส่วนช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 

การวินิจฉัยโรคฝีดาษลิง

ผู้ป่วยที่มีผื่น ควรได้รับการแยกจากโรคอื่นๆ เช่น ฝีดาษ สุกใส หิด ซิฟิลิส การติดเชื้อทางผิวหนัง และอาการแพ้ยาอื่นๆ อาการต่อมน้ำเหลืองโตจะช่วยบ่งชี้โรคฝีดาษลิงจากโรคฝีดาษและสุกใสได้ การวินิจฉัยที่แน่นอนทำได้โดยแพทย์ส่งสิ่งส่งตรวจ (แนะนำให้เป็นรอยโรคทางผิวหนังหรือของเหลวจากตุ่มน้ำ) ไปทำ Polymerase Chain Reaction (PCR) โดยมีขั้นตอนการเก็บและส่งต่อสิ่งส่งตรวจอย่างเหมาะสม และต้องระบุอาการและระยะเวลาการเกิดโรคของผู้ป่วยพร้อมสิ่งส่งตรวจด้วย ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนจากเชื้อในกลุ่มนี้มาก่อนอาจมีผลบวกลวงได้ 

การป้องกันโรคฝีดาษลิง

วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ มีส่วนช่วยในการป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณ 85% ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนชนิดใหม่ที่มีความจำเพาะต่อโรคฝีดาษลิงมากขึ้น การให้ความรู้เกี่ยวกับตัวโรคและการป้องกันตัวเอง เช่น  

  • ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ ใช้แอลกอฮอล์ล้างมือ  
  • การหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรค  
  • หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ไม่ปรุงสุก  
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ เช่น สัตว์ฟันแทะ  ลิง 

ผู้ที่ทำงานในห้องวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโรคและบุคลากรทางการแพทย์ควรมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเองอย่างเหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยงของการติดโรคได้ 

การรักษาโรคฝีดาษลิง

ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงมักหายเองได้ การรักษาจึงมักเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การให้สารน้ำและอาหารให้เพียงพอ การป้องกันภาวะแทรกซ้อน และการป้องกันผลข้างเคียงในระยะยาว ในบางประเทศอาจมีการใช้ยาต้านไวรัส เช่นยา tecovirimat และ cidofovir 

แม้ว่าโรคฝีดาษลิงจะยังมีแนวโน้มการแพร่ระบาดและอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่เนื่องจากมีลักษณะการระบาดที่เปลี่ยนแปลงไป จึงควรมีการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด

Reference 

 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?