ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว

ไขมันพอกตับ ภัยเงียบที่ไม่รู้ตัว

Highlight:

  • การเกิดการสะสมไขมันในตับจำนวนมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ถือว่าเริ่มมีภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง เกิดพังผืดในตับ จนอาจกลายเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งตับได้  
  • ภาวะไขมันพอกตับ  (Fatty liver disease) เป็นภาวะที่มีไขมันมาพอกจับในเซลล์ตับ พบในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ  และในผู้ที่มีปัญหาระบบเผาผลาญผิดปกติ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคอ้วนลงพุง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง 
  • ผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับส่วนมากมักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าหน้าที่การทำงานของตับจะถูกทำลายอย่างรุนแรง ผู้ป่วยส่วนมากมักทราบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือจากการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง  

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ (Fatty liver)  คือ ภาวะที่มีไขมันสะสมในเซลล์ตับ ซึ่งการมีไขมันในตับมากเกินไปอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพได้ 

ตับเป็นอวัยวะสำคัญ มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในร่างกาย ทำหน้าที่นำสารอาหารที่ย่อยแล้วจากทางเดินอาหาร มาปรับเปลี่ยน แล้วผลิตเป็นพลังงานที่เหมาะกับการใช้ในส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตับยังทำหน้าที่ทำลายสารพิษต่างๆ ที่เป็นอันตรายออกจากเลือด รวมถึงเป็นที่สำหรับกักเก็บพลังงานในรูปแบบของไขมันเพื่อใช้สร้างเป็นแหล่งพลังงาน แต่หากกินอาหารที่ให้พลังงานสูง หรือไขมันสูงมากจนเกินไป โดยไม่มีการใช้พลังงานออกไปอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับจำนวนมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ ถือว่าเริ่มมีภาวะไขมันพอกตับ ส่งผลให้เซลล์ตับเกิดการอักเสบ เมื่อเป็นเรื้อรังจะมีการสร้างพังผืดมากขึ้น จนกลายเป็นโรคตับแข็ง และเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับได้อีกด้วย 

สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันพอกตับ

  1. ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์  (Alcohol-related Fatty Liver Disease) มีสาเหตุหลักจากการดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันในปริมาณมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ และเกิดการสะสมของไขมันที่ตับในที่สุด 
  2. ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease : NAFLD) หรือในปัจจุบันมีผู้พยายามเปลี่ยนชื่อเป็น Metabolic-associated Fatty Liver disease (MAFLD) เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกการเกิดโรคมากขึ้น เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดจากภาวะระบบการเผาผลาญผิดปกติ สัมพันธ์กับภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) เช่น โรคอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome), โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่า ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง  และโรคตับแข็ง ที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ มีสาเหตุมาจากภาวะนี้ถึงหนึ่งในสามของผู้ป่วยทั้งหมด   

อาการของไขมันพอกตับ

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะไขมันพอกตับ มักไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ส่วนใหญ่ทราบจากการตรวจสุขภาพ หรือตรวจคัดกรองในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการ เมื่อมีปริมาณไขมันสะสมในตับมาก และเกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรัง จนเริ่มเสียหน้าที่การทำงานของตับไป โดยอาการไขมันพอกตับที่พบบ่อย มีดังนี้ 

  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้ มึนงง 
  • ผิวและตาเหลือง 
  • ปัสสาวะสีเข้ม 
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง รู้สึกเหนื่อย 
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • ขาบวม หรือมีน้ำในช่องท้อง 
  • ไม่สบายท้องหรือปวดบริเวณท้องด้านขวาบน 
  • ผิวหนังคัน ช้ำ หรือเลือดออก 

โรคต่างๆ ที่มักพบร่วมกับภาวะไขมันพอกตับ

เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ มีสาเหตุจากการเผาผลาญพลังงานที่ไม่เหมาะสม มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเมตาบอลิซึม จึงมักพบร่วมกับโรคต่างๆ ดังนี้ 

  • โรคเบาหวาน ทั้งชนิดที่ 2 และชนิดที่ 1 
  • โรคอ้วนลงพุงหรือ ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน 
  • โรคไขมันในเลือดสูง 
  • โรคความดันโลหิตสูง 
  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ   
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด 

การวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับ

หากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะไขมันพอกตับ หรือเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย หาปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยาต่างๆ การดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนี้อาจส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ดังนี้  

  • เจาะเลือดเพื่อตรวจหน้าที่การทำงานของตับ เช่น ระดับบิลิรูบิน ระดับเอนไซม์ AST, ALT ระดับโปรตีนอัลบูมินในเลือด 
  • วินิจฉัยแยกโรคไวรัสตับอักเสบต่างๆ โดยการเจาะเลือดตรวจหาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และซีเรื้อรัง 
  • การตรวจอัลตร้าซาวด์ตับ เป็นวิธีที่สะดวก ผไม่เจ็บ โดยภาพรังสีจะเห็นสีของเนื้อตับขาวกว่าปกติจากการที่มีไขมันมาพอกจับ แต่มีความไวไม่สูงมากนัก โดยจะพบลักษณะดังกล่าว เมื่อมีไขมันสะสมในตับ มากกว่า 30% ขึ้นไป  
  • การตรวจวัดความยืดหยุ่นของตับ (Liver stiffness) ด้วยวิธีตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan®) เป็นการตรวจที่ง่าย ได้ผลเร็ว ไม่เจ็บ สามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของตับ ความเสี่ยงในการเป็นโรคตับแข็ง และประเมินปริมาณไขมันสะสมในเนื้อตับ ช่วยทดแทนการเจาะชิ้นเนื้อตับได้ดี 
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) สามารถตรวจพบไขมันสะสมในตับได้ ตั้งแต่ 5-10% แต่ส่วนมากใช้เมื่อสงสัยว่าจะมีก้อนผิดปกติในตับมากกว่า 

แนวทางการรักษาภาวะไขมันพอกตับ

จจุบันยังไม่มียาสำหรับรักษาภาวะไขมันพอกตับโดยตรง การรักษาภาวะไขมันพอกตับยังมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และดูแลสุขภาพในองค์รวม ดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง ลดอาหารจำพวกแป้ง และคาร์โบไฮเดรต เพิ่มโปรตีนที่มีคุณภาพ และผักต่างๆ ให้มากขึ้น 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยครั้งละ 45 นาที 3-4 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ 
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ โดยคำนวณจากดัชนีมวลกาย (Body Mass Index (BMI) 
  • ลดการดื่มแอลกอฮอล์ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยปริมาณแอลกอฮอล์ที่พอรับได้ สำหรับผู้ชาย คือไม่เกิน 2-3 แก้ว/วัน และ 1-2 แก้วต่อวัน สำหรับผู้หญิง 
  • ใช้ยาเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการกินยาสมุนไพร หรือยาที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ 
  • ลดหรือเลิกสูบบุหรี่   

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมต่างๆ ควรได้รับการควบคุมที่เหมาะสม เช่น รักษาโรคเบาหวาน ให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ดี รักษาโรคไขมันในเลือดสูง โดยสามารถใช้ยาลดไขมันในกลุ่ม Statin ต่อได้ด้วยความระมัดระวัง ในบางกรณี อาจพิจารณาใช้ยาในกลุ่ม Antioxidant เพื่อช่วยลดการอักเสบของตับ 

การป้องกันภาวะไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับเป็นภาวะที่สามารถป้องกันเบื้องต้นได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และมีการดูแลสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารและออกกำลังกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวควรพบแพทย์ตามนัด รับประทานยา และปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์

นอกจากนี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบหลายชนิดสามารถทำลายตับได้เช่นกัน เพื่อปกป้องสุขภาพตับ แพทย์อาจแนะนำให้รับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบเอ และไวรัสตับอักเสบบี

ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับจำนวนมากมักไม่แสดงอาการใดๆ จนกว่าตับจะถูกทำลายอย่างรุนแรง เช่น เมื่อมีภาวะตับแข็งในระยะแรก จะเริ่มแสดงอาการ เช่น อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ขาบวม ตัวตาเหลือง หรือจุกแน่นบริเวณท้องด้านขวาบน ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับส่วนใหญ่ ควรพิจารณาปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารให้ได้พลังงานที่เหมาะสม ลดการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ทั้งนี้เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะไขมันพอกตับแล้ว ควรติดตามดูแลรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังการดำเนินของโรค และติดตามภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

การละเลยอาจนำไปสู่ภาวะตับแข็ง ซึ่งการรักษาในระยะนี้อาจได้ผลไม่ดีนัก รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับในที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?