8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา

8 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา

HIGHLIGHTS:

  • การกินยาดักไข้  ไม่สามารถช่วยป้องกันการเป็นไข้ได้  และยังอาจทำให้เกิดโทษ โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม หากกินเกินวันละ 8 เม็ด ติดต่อกันเกิน 5 วัน จะส่งผลให้ตับทำงานหนัก จนเซลล์ตับถูกทำลาย เกิดภาวะตับอักเสบได้
  • การกินยาในปริมาณหรือขนาดที่มากกว่าแพทย์กำหนด เนื่องจากอุบัติเหตุหรือจากความเข้าใจผิดที่คิดว่าจะทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • ยาเป็นการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคลเท่านั้น จึงไม่ควรแบ่งยาให้ผู้อื่นที่มีอาการเดียวกัน เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว พื้นฐานการทำงานของตับ ไต รวมถึงน้ำหนักตัวและขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกัน

"ยา"  เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่ช่วยในการรักษา บรรเทา หรือป้องกันโรคและอาการป่วยต่างๆ ทำให้ร่างกายรู้สึกดีขึ้นตามฤทธิ์และสรรพคุณของยา เช่น ช่วยบรรเทาอาการปวด ลดความดันโลหิต รักษาการติดเชื้อ ฯลฯ  หลักการใช้ยานั้น ควรใช้ยาอย่างถูกวิธี ตามขนาดและระยะเวลาของการรักษา ที่เภสัชกรหรือแพทย์แนะนำ 

แต่หลายครั้งที่ความเข้าใจผิด ความไม่รู้ รวมถึงความเชื่อผิดๆ อาจส่งผลให้การใช้ยาก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น เกิดผลข้างเคียงเนื่องจากได้รับยาเกินขนาดหรือยาหลายตัวออกฤทธิ์ต้านกัน อาจเกิดอาการแพ้ยา ตั้งแต่อาการเล็กน้อยจนถึงรุนแรงถึงแก่ชีวิต หรืออวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บจากยา โดยเฉพาะตับ ไต กระเพาะอาหาร และสมอง

1. กินยาดัก เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

ความเชื่อยอดนิยมที่ว่า หากรู้สึกเหมือนจะเป็นไข้ให้กินยาดักไว้ก่อน โดยคิดว่ายาจะสามารถป้องกันไข้หวัดได้ โดยเฉพาะการกินยาพาราเซตามอลหรือยาลดไข้ชนิดอื่นๆ ในความจริงนั้น ยาเหล่านี้มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ลดไข้ แต่ไม่ได้มีสรรพคุณในการป้องกันอาการป่วย ดังนั้น การกินยาดักไข้ตอนที่ยังไม่มีอาการจึงไม่สามารถช่วยป้องกันการเป็นไข้ได้ อีกทั้งยาทุกชนิดมีผลข้างเคียง และอาจเกิดอันตรายหากกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน  โดยเฉพาะยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม หากกินเกินวันละ 8 เม็ด ติดต่อกันเกิน 5 วัน จะส่งผลให้ตับทำงานหนัก จนเซลล์ตับถูกทำลาย และมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบได้ในที่สุด

2. กินรวบมื้อ

การลืมกินยามื้อหนึ่งแล้วรวบยอดไปมื้อถัดไป หรือการลืมกินยาก่อนอาหารแต่เอาไปกินพร้อมยาหลังอาหารแทน  เหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เนื่องจากการกินยาแบบรวบมื้อ อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดในมื้อถัดไป และยาที่จำเป็นต้องกินก่อนอาหารก็จะถูกลดประสิทธิภาพลงเมื่อนำไปกินหลังอาหาร วิธีการรับประทานยาที่ถูกต้อง มีดังนี้

  • ยาระหว่างอาหารหรือยาพร้อมอาหาร  ควรกินยาพร้อมอาหารคำแรกหรือหลังจากกินอาหารไปแล้วครึ่งหนึ่ง
  • ยาก่อนอาหาร ควรกินก่อนอาหารประมาณ 20 – 30 นาที ถ้าลืม ให้ข้ามไปกินก่อนอาหารมื้อถัดไป หรือกินหลังอาหารมื้อนั้นอย่างน้อย 2 ชม. และไม่ต้องกินของมื้อถัดไปแล้ว
  • ยาหลังอาหาร ควรกินหลังอาหาร ประมาณ 15 นาที ถ้าลืมไม่เกิน 15 นาที สามารถกินได้ ถ้านานเกิน 15 นาที ให้ข้ามไปกินมื้อถัดไป แต่ถ้าเป็นยาสำคัญห้ามข้ามเด็ดขาด ให้กินของว่างมื้อเล็กๆ แล้วกินยาตามทันที
  • ยาก่อนนอน ควรกินก่อนเข้านอน  ประมาณ 15 – 30 นาที ถ้าลืม ให้ข้ามไปกินก่อนนอนคืนถัดไป

3. กินยาเกินขนาด (overdose) จะได้หายเร็วๆ

การกินยาในปริมาณหรือขนาดที่มากกว่าแพทย์กำหนด ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ ความเข้าใจผิด หรือคิดว่าจะทำให้หายจากโรคเร็วขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจให้ถูกต้องในเรื่องของปริมาณและระยะเวลาของการกินยา ซึ่งยาที่พบบ่อยว่ากินเกินขนาด คือ ยาพาราเซตามอล โดยแนะนำว่าขนาดที่ถูกต้องในการกินยา 1 ครั้ง ใช้ยาขนาด 10-15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น น้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ขนาดยาอยู่ที่ 600-900 มิลลิกรัม หรือขนาดยา 500 มิลลิกรัม 1.5 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง  อีกทั้งยาพาราเซตามอลนั้นเป็นยารักษาตามอาการ หากไม่มีอาการปวดหรือไม่มีไข้ ก็ไม่จำเป็นต้องกินยา ดังนั้น การกินยาพาราเซตามอลมากเกินไปหรือกินพร่ำเพรื่อติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้ตับทำงานบกพร่อง เสี่ยงต่อภาวะตับอักเสบได้

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยกินยาเกินขนาดแล้วพบอาการไม่พึงประสงค์  เช่น อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว  ปวดท้อง คลื่นไส้ หายใจขัด ชีพจรอ่อนลง ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ง่วงนอน สับสน หรือมีอาการหนักถึงขั้นช็อก ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือโดยด่วน  เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจไม่ส่งผลฉับพลันแต่สะสมจนทำลายอวัยวะสำคัญได้

4. ยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบคือยาชนิดเดียวกัน

ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) เรียกกันทั่วไปว่ายาฆ่าเชื้อหรือยาต้านแบคทีเรีย เป็นยารักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น  เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง แผลเป็นฝีหนองที่ผิวหนัง หรือปอดอักเสบจากแบคทีเรียทำให้มีเสมหะเหลือง/เขียว ข้อสำคัญ คือ ยาปฏิชีวนะนั้นมีหลายชนิดและการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายก็เกิดจากเชื้อแบคทีเรียต่างชนิดกัน การรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ยาตรงกับเชื้อที่เป็นสาเหตุเท่านั้น ไม่ใช่จะใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใดก็ได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนเลือกยารับประทาน

ส่วนยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดอาการไข้ บรรเทาปวด บวม แดง  โดยข้อเท็จจริงทางการแพทย์ระบุว่า การอักเสบส่วนใหญ่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการติดเชื้อ เช่น โรคเกาต์ โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบจากภูมิคุ้มกันอย่างโรคข้อรูมาตอยด์ การบวมแดงช้ำจากอุบัติเหตุหรือแมลงสัตว์กัดต่อย ซึ่งใช้ยาต้านอักเสบรักษาได้ โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ)   

หลายคนมักเข้าใจผิดว่ายาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบคือยาชนิดเดียวกัน  ดังนั้น หากซื้อยากินเองก็มีโอกาสที่จะได้ยาที่ไม่ตรงกับโรค และอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น จนเกิดเชื้อดื้อยาในร่างกายในที่สุด ทั้งนี้ จากการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษ พบว่าทุกๆ ชั่วโมงคนไทยเสียชีวิตจากการดื้อยาปฏิชีวนะเฉลี่ย 2 คน โดยในปี 2010 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในประเทศไทยมากถึง 19,122 คน โดยมีสาเหตุหนึ่งมาจากคนไทยสามารถซื้อยาได้ง่ายตามร้านขายยา โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์

5. เป็นหวัดเจ็บคอต้องกินยาปฎิชีวนะ

ภาวะเจ็บคอส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสหรือที่เรียกกันว่าเชื้อหวัด ส่วนอาการเจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรียนั้นจะต้องมีอาการบ่งชี้อื่นๆ เช่น มีไข้สูง มีฝีหนองที่ต่อมทอนซิล น้ำมูก/เสมหะสีเหลือง/เขียว การติดเชื้อไวรัสหรือหวัดไม่มียาฆ่าเชื้อโดยตรง ใช้การรักษาตามอาการให้ร่างกายกำจัดเชื้อออกไปเอง ดังนั้น จึงมีความเข้าใจผิดว่าเมื่อมีอาการเจ็บคอควรซื้อยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะมากินจึงไม่ช่วยรักษาอาการเจ็บคอจากหวัดได้ 

6. หยุดยา เพิ่มยา ลดยา หรือซื้อยาเดิมกินเองต่อเนื่องเป็นปีๆ โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์

การใช้ความรู้สึกในการหยุดยา เพิ่มยา หรือลดยาเอง เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบบ่อย ไม่ว่าจะเป็นเพราะอยากหายจากโรคไวๆ หรือรู้สึกว่าอาการดีขึ้นจริงๆ จึงหยุดยาเพราะคิดว่าหายแล้ว  ข้อเท็จจริง คือ โรคบางโรคใช้ยารักษาเพียงระยะสั้นๆ ก็เพียงพอ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้ากินยาครบตามที่แพทย์กำหนดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องกินต่อ  หรือยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้อักเสบลดปวด ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาระบาย หากไม่มีอาการแล้วก็สามารถหยุดทานได้

แต่ในกรณีของโรคเรื้อรัง (Non Communicable Diseases: NCD) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไตเสื่อม เกาต์  โรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง โรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วส่วนใหญ่จะเรื้อรัง ใช้เวลารักษานาน และต้องอาศัยการใช้ยาควบคู่กับการปรับพฤติกรรมและการตรวจร่างกาย/ตรวจเลือดอย่างต่อเนื่อง จึงจะสามารถป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคในอีกห้าปีหรือสิบปีข้างหน้าได้ ดังนั้น ถ้าเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีโรคกลุ่มโรคเรื้อรัง ก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาต่อเนื่อง ไม่ควรปรับยาหรือหยุดยาเอง แม้จะรู้สึกว่าอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม

7. โรคเดียวกัน แบ่งยากันกินได้

ในบางครั้งเมื่อหายจากโรคแล้วแต่ยังมียาเหลืออยู่ จึงแบ่งยาให้คนอื่นที่มีอาการเดียวกันนำไปรับประทานต่อ สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว พื้นฐานการทำงานของตับ ไต รวมถึงน้ำหนักตัวและปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อชนิดและขนาดของยาที่แตกต่างกัน ยาจึงเหมาะที่จะให้การรักษาเฉพาะแต่ละบุคคลเท่านั้น ที่สำคัญที่สุด ผู้ใหญ่ไม่ควรแบ่งยาของตนเองให้กับเด็กโดยใช้วิธีแบ่งครึ่งให้ทานโดยเด็ดขาด ด้วยเข้าใจว่ายาครึ่งเม็ดให้ฤทธิ์ยาเพียงครึ่งเดียว แต่เนื่องจากระบบอวัยวะภายในของเด็กนั้นไม่เหมือนผู้ใหญ่ การตอบสนองต่อยาจึงแตกต่างกัน การที่เด็กได้รับยาเกินขนาดเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้มากอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้น จึงไม่ควรกินยาของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม   

8. การกินยากับเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า

การกินยาให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ควรกินกับน้ำเปล่าที่สะอาด ไม่ควรกินคู่เครื่องดื่มอื่น เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการออกฤทธิ์ของยาได้ ดังนี้  

  • กินยากับนม - แคลเซียม โปรตีน และเหล็กในนมอาจไปจับกับตัวยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาลดกรด ส่งผลต่อการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาบางชนิดอาจออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่  
  • กาแฟ - กาแฟมีคาเฟอีนออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท หากกินร่วมกับยาที่กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยาแก้หวัด ยาขยายหลอดลม อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเกิดอาการวูบเป็นลมได้ เป็นต้น
  • น้ำผลไม้ - น้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว จะทำให้กรดในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ปวดท้องถ้าทานคู่กับยาที่มีฤทธิ์เพิ่มกรดในกระเพาะอยู่แล้ว น้ำผลไม้ยังมีผลต่อการดูดซึมของยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว และโรคภูมิแพ้ต่างๆ  
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ - ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและปัสสาวะมากขึ้น หากกินเวลาใกล้เคียงกับยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือดหรือยาขับปัสสาวะ จะทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไป เสียน้ำออกจากร่างกายเกินความจำเป็น ส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ มึนงง และอาจเป็นลมหมดสติได้ นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรังยังเพิ่มความเสี่ยงโรคตับอักเสบหรือตับแข็ง การรับประทานยาหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่ขับออกจากร่างกายผ่านทางตับ ก็ยิ่งทำให้เซลล์ตับได้รับความเสียหายมากขึ้น แม้จะกินยาในขนาดปกติก็ตาม
  • น้ำอัดลม - มีทั้งกรดและน้ำตาลสูง ซึ่งขัดขวางการออกฤทธิ์ของยาบางชนิด เช่น ยาลดกรด  ยาขยายหลอดลม

การใช้ยาให้ได้ประโยชน์สูงสุดในการรักษาโรค มีเคล็ดลับง่ายๆ เพียงใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร อ่านฉลากกำกับยา รับประทานยาในปริมาณที่ถูกต้อง ตรงเวลา และไม่หยุดยาเอง หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือพบแพทย์ผู้ทำการรักษา สิ่งสำคัญ คือ อย่าใช้ความรู้สึกส่วนตัวหรือหลงเชื่อสิ่งที่ส่งต่อกันในโลกโซเชียลโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างละเอียดหรือมีคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?