โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay hunt syndrome) ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay hunt syndrome) ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก

Highlight:

  • โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt syndrome) คือ ภาวะแทรกซ้อนหลังการติดเชื้อไวรัส varicella-zoster ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสและงูสวัด  พบได้น้อยในเด็ก มักพบในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง 
  • ภาวะแทรกซ้อนของโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม มีการสูญเสียการได้ยินแบบถาวรและใบหน้าอ่อนแรง (ส่วนใหญ่เป็นชั่วคราว)   ปวดตา  มองเห็นไม่ชัด  อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic  neuralgia 
  • การป้องกันโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสในเด็ก  และวัคซีนป้องกันงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป   

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsay Hunt syndrome) คือ ภาวะแทรกซ้อนหลังการติดเชื้อไวรัส varicella-zoster ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใสและงูสวัด โดยหลังการติดเชื้ออีสุกอีใสแม้อาการของโรคจะหายไปแล้ว แต่ก็ยังมีเชื้อฝังตัวอยู่ในปมประสาท และจะก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือเกิดโรคขึ้นใหม่เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรง  

Ramsay Hunt syndrome เป็นภาวะ ที่เชื้อแสดงอาการที่เส้นประสาทใบหน้าคู่ที่ 7 และจะทำให้มีอาการที่มีลักษณะจำเพาะคือใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ปวดหู และตุ่มน้ำใสบริเวณใกล้ใบหูและรูหูในข้างเดียวกัน การวินิจฉัยมักทำได้ช้าจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะยาวได้ การรักษาอย่างรวดเร็ว ภายใน 72 ชั่วโมง จะทำให้ลดระยะเวลาของโรคและป้องกันอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนสำคัญได้ เช่น กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงถาวร หูหนวก  

ใครที่มีภาวะเสี่ยงต่อโรค Ramsay Hunt syndrome

อุบัติการณ์ของโรค Ramsay Hunt syndrome อยู่ที่ 5 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน ต่อปี โดยพบได้ทั้งในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติและภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีความรุนแรงของโรคมากกว่าและโอกาสหายขาดน้อยกว่า  

โรค Ramsay Hunt syndrome พบน้อยในเด็ก พบมากในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี มักพบในผู้ป่วยที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง 

สาเหตุของโรค Ramsay Hunt syndrome

โรค Ramsay Hunt syndrome เกิดจากเชื้อไวรัส varicella-zoster ในกลุ่ม human herpesvirus family โดยจะทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส โดยหลังการติดเชื้อแม้อาการของโรคจะหายไปแล้วแต่ก็ยังมีเชื้อฝังตัวอยู่ในปมประสาท และจะก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนหรือเกิดโรคขึ้นใหม่เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายไม่แข็งแรงหรือเกิดความเครียดทางกาย (physiological stress) 

อาการของโรค Ramsay Hunt syndrome

ป่วยมักมีไข้และอ่อนแรง 1-3 วัน หลังจากนั้นจะมีอาการซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของโรค Ramsay Hunt syndrome ซึ่งอาการต่าง ๆ จะเกิดในซีกเดียวกันของใบหน้า คืออาการ 

  • ใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก  
  • หลับตาไม่สนิท 
  • ปวดหู 
  • ผื่นตุ่มน้ำใสบริเวณใกล้ใบหูและรูหู โดยเริ่มจากเป็นผื่นแดง กลายเป็นตุ่ม และตุ่มน้ำใสซึ่งจะทำให้มีอาการปวดมาก และมักจะแตกหรือยุบไปในระยะเวลาประมาณ 7 วัน แต่อาจจะมีรอยโรคหรือแผลเป็น คงอยู่ได้ประมาณ 2-3 สัปดาห์ 

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น การรับรสเปลี่ยนแปลง ตาแห้ง น้ำตาไหล การได้ยินเสียงผิดปกติ จมูกตื้อ ลิ้นแข็ง หากมีการติดเชื้อที่เส้นประสาทคู่ที่ 7 อาจมีการสูญเสียการได้ยิน มีเสียงวิ้งในหู และอาการวิงเวียน และหากมีการติดเชื้อที่เส้นประสาทคู่ที่ 10 อาจมีอาการเสียงแหบหรือสำลัก ตุ่มน้ำอาจเกิดหลังอาการทางระบบประสาท ซึ่งมักเกิดที่บริเวณใบหู แต่อาจเกิดที่ใบหน้า หน้าผาก เพดานปาก หรือลิ้นได้  

อาการอาจแยกได้ยากจากโรค Bell’s palsy ซึ่งทำให้มีกล้ามเนื้ออ่อนแรงเช่นเดียวกันแต่จะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย

การดูแลตัวเองและการรักษาโรค Ramsay Hunt syndrome

ควรพบแพทย์รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อลดการเกิดผลแทรกซ้อนในระยะยาว เช่น  

  • อาการเส้นประสาทใบหน้ากระตุก  
  • สูญเสียการได้ยิน  
  • ปัญหาด้านการมองเห็น  
  • อาการปวดตามเส้นประสาท  

หากมีอาการดังกล่าวแพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสและยาสเตียรอยด์เพื่อลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรค ไม่ควรซื้อยากินเองเนื่องจากยาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียงในผู้ป่วยหลายกลุ่มได้ 

การรักษาที่สำคัญอีกอย่างคือการรักษาอาการ แพทย์จะพิจารณาให้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวด อาการบ้านหมุน หากผู้ป่วยมีอาการหลับตาไม่สนิทอาจทำให้มีอาการตาแห้งหรือกระจกตาเป็นแผล แพทย์จึงอาจให้น้ำตาเทียมหรือยาขี้ผึ้งป้ายตาสำหรับเวลานอน 

ผู้ที่เป็นโรค Ramsay Hunt syndrome ควรดูแลตัวเองโดยรับประทานยาที่แพทย์สั่งให้อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือแกะบริเวณผื่น ดูแลรักษาบริเวณผื่นให้สะอาด อาจใช้การประคบเย็นเพื่อลดความปวดและหากผื่นยังไม่ยุบหรือหายไป ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรือผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนอีสุกอีใส ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ทารกแรกเกิดและหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากอาจแพร่เชื้อให้กลุ่มคนดังกล่าวได้ จนกว่าตุ่มที่เป็นจะตกสะเก็ดแล้ว 

ภาวะแทรกซ้อนของโรค Ramsay Hunt Syndrome

  1. การสูญเสียการได้ยินแบบถาวรและใบหน้าอ่อนแรง (ส่วนใหญ่เป็นชั่วคราว) 
  2. ปวดตา  มองเห็นไม่ชัด  
  3. อาการปวดปลายประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด (Postherpetic  neuralgia)     

การป้องกันโรค Ramsay Hunt syndrome

ควรฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสในเด็ก  และวัคซีนป้องกันงูสวัดในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสและงูสวัดแล้ว การป้องกันโรค Ramsay Hunt syndrome ที่ดีที่สุดคือการดูแลรักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง เนื่องจากโรคนี้อาจกลับมามีอาการเมื่อเกิดความเครียดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ พยายามรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ หรือรับประทานอาหารเสริมและวิตามินช่วย พักผ่อนอย่างเพียงพอ และลดความเครียดความกังวล ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผู้ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด รวมถึงยังไม่เคยได้รับวัคซีนดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผื่นตุ่มน้ำของผู้ที่มีอาการ 

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด กับโรค Ramsay Hunt syndrome

มีคำแนะนำว่า  การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด สามารถป้องกันการเกิดโรค Ramsay Hunt syndrome ได้  โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ มากกว่า 60 ปีขึ้นไป  เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ จะมีภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลงและเสี่ยงต่อการเกิดโรค รวมถึงมักมีอาการที่รุนแรงกว่าเมื่อเกิดโรคแล้วด้วย 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?