ครีมกันแดด จำเป็นแค่ไหนแม้ไม่ได้อออกจากบ้าน

ครีมกันแดด จำเป็นแค่ไหนแม้ไม่ได้อออกจากบ้าน

HIGHLIGHTS:

  • รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet: UV) ชนิดUVA และ UVB เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดผลเสียกับผิว เกิดการสร้างอนุมูลอิสระ ความเหี่ยวย่นหย่อนคล้อย และผิวเกรียมแดด รวมไปถึงมะเร็งผิวหนัง
  • รังสี UVA สามารถส่องผ่านทะลุกระจกเข้าไปยังอาคารบ้านเรือนได้ อีกทั้งยังมีแสงสีฟ้าจากมือถือและจอคอมพิวเตอร์ ดังนั้น แม้จะอยู่ในบ้านก็ควรทาครีมกันแดดที่เหมาะสมเช่นกัน 
  • ควรเลือกครีมกันแดดที่มีคุณสมบัติปกป้องได้ทั้งแสง UVA และ UVB โดยสามารถสังเกตจากค่า SPF และ PA ตามลำดับ โดยควรเลือกระดับ SPF ตั้งแต่ 30 และค่า PA 3+ ขึ้นไป

โดยปกติแล้ว การทาครีมกันแดดนั้นเป็นกิจวัตรประจำวันที่บรรจุอยู่ใน Skincare Routine ของหลายๆ คนที่ทำก่อนออกจากบ้านไปทำงาน แต่เมื่อเกิดการระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 ขึ้น ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home (WFH) จึงมีคำถามตามมาว่า จริงๆ แล้ว หากต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ออกไปโดนแดดที่ไหน เรายังมีความจำเป็นต้องทาครีมกันแดดอยู่อีกหรือไม่?

แสงแดดและรังสียูวี ส่งผลเสียต่อผิวอย่างไร

แสงแดด หรือ แสงอาทิตย์เป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายกับเซลล์ผิวหนัง ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ผิวอักเสบ สูญเสียคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ผิวคล้ำเสีย เกิดฝ้ากระ และเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งผิวหนังได้ ในแสงแดดจะประกอบไปด้วย แสงอินฟราเรด (infrared)  แสงที่มองเห็น (visible light)  และแสงที่มองไม่เห็น (invisible light) นั่นก็คือรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet: UV) หรือยูวีที่เราคุ้นหูกัน

รังสียูวีในแสงอาทิตย์ มีทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ UVA UVB และ UVC ซึ่งรังสี UVC นั้นโดยส่วนใหญ่แล้วจะถูกชั้นโอโซนของโลกดูดซับ สะท้อนกลับ หรือทำลายได้ทั้งหมด เลยไม่มีผลกระทบต่อผิวหนังเท่าใดนัก ดังนั้น ในที่นี้จึงจะขอพูดถึงรังสี 2 ชนิดแรก คือ UVA และ UVB ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาผิวต่างๆ มากมาย

  1. รังสี Ultraviolet A หรือ UVA สามารถแบ่งได้เป็น UVA-I และ UVA-II ในแสงแดดนั้นมี UVA มากถึง 95% รังสี UVA นั้นส่งผลร้ายต่อผิวหนัง ทำให้ผิวเหี่ยวย่น หย่อนคล้อย เกิดริ้วรอย ผิวคล้ำเข้ม เกิดจุดด่างดำ และเกิดการสร้างของอนุมูลอิสระ ส่งผลกระทบโดยอ้อมต่อดีเอ็นเอ การกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม และสามารถทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังบางชนิดได้
  2. รังสี Ultraviolet B หรือ UVB เป็นรังสีที่ทำให้เกิดการ Burn หรือผิวหนังไหม้เกรียมแดด ผิวอักเสบ ผิวแก่ก่อนวัย และยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็วผิวหนังได้ หากปล่อยให้ผิวสัมผัสแสงแดดบ่อยๆ โดยเฉพาะแดดช่วงเที่ยงหรือบ่าย หรือเมื่อฟ้าใส มีเมฆน้อย และปราศจากการป้องกันที่ดี

การทาครีมกันแดดจำเป็นไหมเมื่ออยู่แต่ในบ้าน

หากจะต้องทำงานอยู่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปไหน หลายคนอาจมีความสงสัยว่า ยังต้องทาครีมกันแดดอยู่หรือไม่ บางคนอาจคิดว่าเมื่อไม่โดนแดดจึงไม่มีความจำเป็นต้องทา แต่บางคนอาจยังมีความกังวลเรื่องแสง UV จากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ โทรทัศน์ หรือจอคอมพิวเตอร์

ในความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์เหล่านี้แทบไม่มีรังสี UV ปล่อยออกมาเลย หรือหากมีก็อยู่ในระดับที่ต่ำมาก ไม่มีผลเสียต่อผิวหนังแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องกังวลน่าจะเป็นรังสี UVA จากแสงที่เล็ดลอดเข้ามาทางหน้าต่างหรือกระจกมากกว่า ซึ่งหากเป็นกระจกใสแล้ว แสง UVA จะสามารถทะลุผ่านได้ถึง 75% ในขณะที่กระจกสีหรือกระจกสะท้อนแสง รังสี UVA จะทะลุผ่านได้ถึง 25-50% (ส่วนรังสี UVB ไม่สามารถทะลุผ่านกระจกได้)

ดังนั้น ถึงแม้ว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านจะแทบไม่ปล่อยรังสี UV ออกมาเลย แต่หากต้องการปกป้องผิวจากแสงแดดที่อาจทะลุมาตามหน้าต่างหรือกระจกขณะอยู่ในบ้าน ก็แนะนำว่าควรทาครีมกันแดดอยู่เสมอ โดยใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF และ PA ที่เหมาะสม (SPF 30 และ PA 3+ ขึ้นไป) พร้อมกับปิดม่าน พยายามนั่งให้ห่างจากหน้าต่างมากที่สุด หรือเปลี่ยนไปใช้กระจกลามิเนตแทนกระจกใส และติดฟิล์มกรองแสงเพื่อกรองรังสี UVA ที่ผ่านทะลุกระจกเข้ามา รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการอยู่ในจุดที่แสงแดดส่องถึง ก็จะช่วยป้องกันรังสี UVA ที่จะเข้ามาทำร้ายผิวได้

การเลือกครีมกันแดด

  • เลือกครีมกันแดดที่ปกป้องได้ทั้งแสง UVB และ UVA โดยสามารถสังเกตจากค่า SPF และ PA ตามลำดับโดย ควรเลือกระดับ SPF 30 ขึ้นไป และระดับ PA 3+ ขึ้นไป (ตามมาตรฐานของ EU ในส่วนของหลักการพัฒนาผลิตภัณฑ์กันแดด)
  • เลือกเนื้อผลิตภัณฑ์และคุณสมบัติให้เหมาะกับกิจกรรมที่ทำ หากทำงานที่บ้าน แนะนำให้เลือกเนื้อสัมผัสที่สบายผิว ไม่หนักผิวจนเกินไป และไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน อาจไม่จำเป็นต้องเลือกแบบกันน้ำ กันเหงื่อ เนื่องจากไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก
  • ควรเลือกครีมกันแดดให้เหมาะกับสภาพผิว เช่น หากมีสภาพผิวมันก็เลือกใช้แบบเจลหรือแบบโลชั่น หรือเนื้อสัมผัสที่เราชอบ
  • เลือกครีมกันแดดที่สามารถป้องกันรังสีอินฟราเรด (IR) หรือรังสีความร้อนที่เราสัมผัสได้โดยตรง และแสงสีฟ้า (BL) ที่มาจากจอคอมพิวเตอร์ มือถือ และแท็บเล็ตได้
  • เลือกครีมกันแดดที่ไม่มีสารก่อการอุดตัน (Occlusive Agents) เช่น ลาโนลิน (Lanolin) พีจี หรือโพรพิลิน ไกลคอล (Propylene Glycol) ที่ทำให้เกิดสิวอุดตัค่ะ อยากให้ช่วยนได้ง่าย แนะนำให้เลือกใช้ครีมกันแดดประเภท Physical Sunscreen ซึ่งมีสารประกอบ เช่น Zinc Oxide และ Titanium Dioxide เพราะอุดตันรูขุมขนน้อย และไม่ดูดซึมเข้าสู่ชั้นผิว
  • หากใช้แล้วเกิดผลเสีย หรือแพ้ มีผื่นขึ้น ให้หยุดใช้ทันที
  • เลือกครีมกันแดดที่ไม่ก่อให้เกิดสิว ไม่มีสารกันบูด ไม่มีน้ำหอม
  • เลือกครีมกันแดดที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้ง

การทาครีมกันแดดที่เหมาะสม

  • หากทำงานที่บ้าน อยู่ในที่ร่มตลอด เหงื่อไม่ออก ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง แต่หากต้องออกไปข้างนอก อยู่กลางแดด ควรทาครีมกันแดดซ้ำทุก 2 ชั่วโมง ไม่ว่าครีมกันแดดนั้นจะมี SPF หรือ PA เท่าไหร่ก็ตาม
  • ปริมาณครีมกันแดดที่เหมาะสมต่อการทาผิวหน้า 1 ครั้ง  ควรบีบครีมกันแดดไม่น้อยกว่า 2 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 ข้อนิ้วมือ/เหรียญ 10 บาท หากเป็นรูปแบบน้ำหรือสเปรย์ ควรใช้ในปริมาณที่มากกว่าแบบครีม
  • นอกจากใบหน้าแล้ว อย่าลืมทาครีมกันแดดบริเวณคอ ใบหู และลำตัวด้วย  
  • หากใช้ครีมกันแดดแบบ Chemical ควรทาก่อนออกไปเจอแดดอย่างน้อย 30 นาที แต่หากเป็นแบบ Physical ก็สามารถทาแล้วเจอแดดได้เลย

จะเห็นได้ว่า ครีมกันแดดนั้นทำหน้าที่เปรียบเสมือนเกราะป้องกันผิวไม่ให้ผิวโดนทำร้ายจากรังสียูวีในแสงอาทิตย์ ดังนั้น จึงแนะนำว่าควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF และ PA ที่เหมาะสมทุกวัน ถึงแม้ว่าวันนั้นเราจะต้องทำงานหรืออยู่ในบ้านตลอดก็ตาม ร่วมกับการป้องกันในส่วนอื่นๆ เช่น การติดฟิล์มกรองแสงที่กระจก ทั้งนี้ ก็เพื่อปกป้องผิวไม่ให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ และผิวแก่ก่อนวัยอันควร

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?