ประเมินความเสี่ยงของคุณและวางแผนการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท มีทีมสูตินรีแพทย์ ที่มากด้วยประสบการณ์ในด้านการดูแลสตรีตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง มาช่วยป้องกันดูแลเพื่อลดความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าว เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและร้ายแรงที่สุดในระหว่างตั้งครรภ์ คลินิกป้องกันการคลอดก่อนกำหนด จะประเมินความเสี่ยงของคุณและวางแผนการรักษาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเราหวังว่าจะช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ และจะกลายเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการดูแลป้องกันการคลอดก่อนกำหนด
การคลอดก่อนกำหนด คือ ทารกที่เกิดก่อนครบ 37 สัปดาห์ ปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการคลอดก่อนกำหนด ได้แก่ ประวัติการคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ก่อน ภาวะปากมดลูกสั้น การตั้งครรภ์แฝด ภาวะแทรกซ้อนทางการแพทย์ เช่น ความดันโลหิตสูงโรค SLE เบาหวาน เป็นต้น
คลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของการตายของทารกแรกเกิด ภาวะแทรกซ้อนในระยะสั้น และ ระยะยาว ทารกในครรภ์มีความเสี่ยงต่อโรคทางระบบทางเดินหายใจ เลือดออกในสมอง ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ตาบอด และ พัฒนาการช้า
แนวทางการดูแลรักษา ยึดหลักการดูแลภายใต้ 3 P CONCEPT
1. Prediction ทำนายความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเราจะเริ่มต้นตั้งแต่การซักประวัติอย่างละเอียด หากพบว่าคนไข้เคยมีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อนเราก็จะจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงทันที นอกจากนี้สตรีตั้งครรภ์ทุกรายจะได้รับการตรวจคัดกรองโดยการวัดความยาวของปากมดลูกด้วย ultrasound ทางช่องคลอด หากความยาวของปากมดลูกมีขนาดสั้นกว่าหรือเท่ากับ 25 มิลลิเมตร ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด การวัดปากมดลูกมาตรฐานก็คือ จะทำการวัดเมื่ออายุครรภ์ได้ 16 – 24 สัปดาห์ แต่จากที่ผ่านมาที่เราได้ทำ พบว่าจริงๆ แล้ว เราสามารถทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 12-13 สัปดาห์ ประโยชน์ของการวัดที่ 12 สัปดาห์คือ ทำให้เราสามารถเห็นตะกอนในโพรงมดลูกได้ด้วย ซึ่งตะกอนนี้ก็คือการอักเสบที่อยู่ในมดลูก ซึ่งถ้าเราทำการ ultrasound ที่ 12-13 สัปดาห์เราจะเห็นตะกอนเหล่านี้ได้ชัดเจน ถ้าพบว่ามีกรณีที่เสี่ยงเหล่านี้ เราก็จะสามารถให้ยาป้องกันได้และลดการอักเสบ หากเราปล่อยทิ้งไว้ก็อาจจะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ นอกจากนี้การตรวจเพื่อหาสาร Fetal Fibronectin ซึ่งเป็นสารที่พบอยู่ระหว่างถุงน้ำคร่ำ กับเยื่อบุโพรงมดลูก เมื่อเกิดการหดรัดตัวของมดลูกจะทำให้มีสารชนิดนี้ออกมาอยู่ในช่องคลอด ถ้าตรวจพบเป็นผลบวกก็แสดงว่าคุณแม่มีแนวโน้มที่จะคลอดก่อนกำหนด
2. Prevention การป้องกันการคลอดก่อนกำหนด เมื่อเราพบคนที่มีปัจจัยเสี่ยงแล้ว เราก็จะมีการให้ยา natural progesterone เพื่อป้องกันไม่ให้มดลูกหดรัดตัว และถ้าในบางกรณีที่เราให้ natural progesterone แล้วเกิดไม่ได้ผล ปากมดลูกยังคงสั้นอยู่เราก็จะใช้ห่วงพยุงปากมดลูก (Cervical pessary) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับปากมดลูก ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้วิธีนี้กันมากกว่าการเย็บปากมดลูก เพราะสะดวกกว่ามาก คนไข้ใส่เสร็จสามารถกลับบ้านได้เลย
3. Health Promotion การรักษาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ในส่วนนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อเราใช้วิธีการใน 2 ข้อแรกแล้วไม่ได้ผล คนไข้ก็ยังมีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอยู่ เราก็จะให้ยาระงับการหดรัดตัวของมดลูกเพื่อชะลอการคลอดไว้ให้ได้อย่างน้อย 48 ชั่วโมง จากนั้นก็จะมีการให้ยาในกลุ่ม Steroid เพื่อกระตุ้นการทำงานของปอดของทารก และป้องกันเลือดออกในสมอง และหลังจากนั้นก็จะปล่อยให้ทารกคลอดและเข้าสู่การให้การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างมีประสิทธิภาพในห้อง NICU ที่มีมาตรฐานสูงรวมถึงมีเครื่องมือที่ทันสมัยและกุมารแพทย์ผู้ชำนาญทางด้านทารกแรกเกิด นอกจากตรงนี้แล้วหลังจากที่ผ่านกระบวนการทั้งหมด คลินิกป้องกันความเสี่ยง ยังมีการเฝ้าติดตามอาการของทารกที่ผ่านการคลอดก่อนกำหนดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการตรวจสุขภาพ และการประเมินการเจริญเติบโตต่อไป
ปัจจุบันคุณแม่จำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญ คือ #การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลให้ทารกมีความเสี่ยงที่จะไม่สมบูรณ์และเกิดความผิดปกติ โดยประเทศไทยพบอัตราการคลอดก่อนกำหนดถึง 12%
จากข้อมูลเราพบอุบัติการณ์คลอดก่อนกำหนดถึง 10% ของสถิติคลอดทั่วโลก แต่ในประเทศไทยกลับพบว่ามีถึง 12% จากการคลอดทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ทางโรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จึงมีความตั้งใจที่จะขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาการคลอดก่อนกำหนดนี้ ด้วยการจัดตั้งศูนย์ Preterm Prevention
ภาวะการคลอดก่อนกำหนด ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์อีกต่อไป และอันตรายจากภาวะการคลอดก่อนกำหนด อาจส่งผลร้ายต่างๆ มากมายตามมา #สมิติเวช ได้เล็งเห็นถึงปัญหานี้ และได้มีการจัดตั้ง Preterm Prevention Clinic ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหาการคลอดก่อนกำหนด
การดูแล ด้วย 3 วิธี ป้องกันการคลอดก่อนกำหนด สามารถช่วยลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 45% (เมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก)