เจาะลึกโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

เจาะลึกโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

HIGHLIGHTS:

  • ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่แสดงอาการผิดปกติ หรืออาจพบเพียงอาการคล้ายโรคลำไส้ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะลุกลามแล้ว
  • การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ทำให้สามารถตรวจพบมะเร็งได้ในระยะต้น ส่งผลให้ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต หรือหายขาดได้
  • การใช้ยาเฉพาะเจาะจง ยาภูมิคุ้มกันบำบัด หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและความจำเพาะต่อระยะของโรคแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุด

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ โรคที่เกิดจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่และลำไส้ที่มีการเปลี่ยนแปลงและแบ่งตัวอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นก้อนหรือเนื้องอก ระยะแรกอาจเป็นเพียงแค่ติ่งเนื้องอกเล็กๆ   เรียกว่า โพลิป (Polyp) แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำการรักษาหรือตัดทิ้ง อาจพัฒนากลายเป็นมะเร็ง ที่สามารถลุกลามทะลุผนังลำไส้จนแพร่กระจายต่อไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

อาการ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อาจไม่แสดงอาการผิดปกติ จากการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรืออาจมีอาการนำมาก่อน เช่น

  • ท้องผูกสลับท้องเสีย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรืออาจมีอาการท้องเสียเรื้อรัง
  • ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือดสด หรือมี เลือดปนมากับอุจจาระ
  • อุจจาระสีดำ หรือสีดำแดง อุจจาระลำเล็กลง
  • ถ่ายไม่สุด ปวดลงทวาร
  • อ่อนเพลียจากภาวะโลหิตจาง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • ปวดท้องเรื้อรัง โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย หรือคลำได้ก้อนบริเวณหน้าท้อง

ซึ่งอาการเหล่านี้อาจเป็นอาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะหลังแล้ว ดังนั้น หากพบว่ามีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ถึงแม้อายุจะยังไม่ถึง 50 ปีก็ตาม เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง อย่าปล่อยทิ้งไว้เพราะเกิดความรุนแรงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะท้ายๆ ได้


โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นก้อนหรือติ่งเนื้อบริเวณเยื่อบุลำไส้ใหญ่
  • ระยะที่ 2 เริ่มกระจายเข้าสู่ผนังลำไส้ใหญ่หรือทะลุถึงเนื้อเยื่อลำไส้ลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียง
  • ระยะที่ 3 ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
  • ระยะที่ 4 แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและเข้าสู่กระแสเลือดไปจนถึงอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด และสมอง

การวินิจฉัยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • การซักประวัติ
  • การตรวจร่างกายเบื้องต้น เช่น การตรวจทางทวารหนัก
  • การตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ การถ่ายภาพเอกซเรย์ด้วยการสวนแป้งทางทวารหนัก ทั้งนี้ เมื่อพบความผิดปกติ จะทำการตรวจอย่างละเอียดโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ซึ่งเป็นการส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อให้เห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด  รวมถึงสามารถตัดชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการตรวจที่มีความแม่นยำมากที่สุด

การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

การผ่าตัด (Surgery)
  • การผ่าตัด (Surgery)  การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ดีที่สุด คือ การผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้ในทุกระยะของโรค โดยอาจทำควบคู่ไปกับการรักษาด้วยรังสีรักษาและยาเคมีบำบัด  อย่างไรก็ตาม การรักษาขึ้นกับตัวแปรของโรค เช่น ระยะของโรค ความรุนแรงในการแพร่กระจาย ขนาด ตำแหน่ง และสุขภาพของผู้ป่วยด้วยเช่นกัน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy)
  • ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดที่ออกฤทธิ์หยุดยั้งการแบ่งตัวหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยการรับประทานหรือฉีดยาเคมีบำบัดเข้าทางหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ เพื่อให้ยาดูดซึมเข้าทางกระแสเลือด ซึ่งอาจให้ก่อนการผ่าตัด และ/หรือ หลังผ่าตัด ร่วมกับการฉายรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ นอกจากนั้นแล้ว ยาเคมีบำบัดยังช่วยไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ และควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของมะเร็งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ยาเคมีบำบัดอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงกับเซลล์ปกติและการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร และผมร่วง
การฉายรังสีรักษา (Radiation Therapy)
  • การฉายรังสีรักษา (Radiation Therapy) ด้วยการใช้รังสีพลังงานสูง เพื่อทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง สามารถทำก่อนการผ่าตัดเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง ทำให้ทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น หรือทำหลังการผ่าตัดเพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็งที่ยังคงเหลืออยู่ และช่วยลดอัตราการกลับมาเป็นซํ้า ทั้งนี้ ยังสามารถทำควบคู่ไปกับการใช้ยาเคมีบำบัด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดียิ่งขึ้น
ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy)
  • ยารักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการรักษาที่ทันสมัยด้วยยาที่เข้าถึงเซลลล์มะเร็งอย่างตรงจุดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งแบบไม่ทำลายเซลล์ข้างเคียง จึงมีผลข้างเคียงน้อย อีกทั้งยังสามารถป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่มักรักษาร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด โดยมักเลือกใช้ในกลุ่มที่มีการกระจายของมะเร็ง ซึ่งพบว่าการรักษาด้วยยาเฉพาะเจาะจงสามารถยืดระยะเวลาของการมีชีวิตอยู่ และช่วยให้มีระยะเวลาของการอยู่โดยปราศจากโรค นานกว่าการให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว
ยาภูมิคุ้มกันบำบัด(Immunotherapy)
  • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) มีกลไกกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของเราเองให้ตรวจจับและฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยมีลักษณะเป็นยาที่ฉีดเข้าไปในเส้นเลือดดำ เพื่อกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาวสามารถมองเห็นเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น และสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ในที่สุด จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด มักเลือกใช้ในกลุ่มที่มีการกระจายของมะเร็ง โดยต้องมีการตรวจชิ้นเนื้อมะเร็งอย่างละเอียดก่อนพิจารณาใช้ยาชนิดนี้ และแพทย์จะเป็นผู้แปลผลให้ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายที่จะใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้หรือไม่

ประโยชน์ของการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มต้นในคนทั่วไป เพราะหากพบแล้วทำการรักษาตั้งแต่ระยะแรกๆ ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มโอกาสการหายขาดได้   
  • ตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง หรืออายุมากกว่า 45 ปี มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือมีติ่งเนื้อ เพราะกลุ่มนี้มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

คุณเสี่ยง...มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ ?

สมิติเวชรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากคุณอายุ 45+ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น พร้อมรับสิทธิพิเศษปรึกษาคุณหมอทางออนไลน์ ฟรี ! คลิกที่นี่

ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่

สำหรับในผู้ที่มีความเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงสูงบางราย ยังอาจได้รับการแนะนำให้ตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น  การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ การสวนแป้งเอกซเรย์ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ลำไส้ใหญ่ และหากพบความผิดปกติ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ต่อไป

หรือสามารถเลือกวิธีคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ได้เลย ซื่งเป็นวิธีที่สามารถตรวจพบติ่งเนื้อ และสามารถตัดติ่งเนื้อได้ทันทีในขณะส่องกล้องหากมีขนาดไม่ใหญ่จนเกินไป

มีข้อมูลน่าสนใจว่า 90% ของการตรวจพบมะเร็งสำไส้ใหญ่จะเริ่มจากติ่งเนื้อขนาดเล็ก (polyp) ในลำไส้ใหญ่ ซึ่งติ่งเนื้อชนิด adenoma ถือว่าเป็นรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (pre-cancerous lesion) ซึ่งมีโอกาสดำเนินกลายเป็นโรคมะเร็งได้ในอนาคต ภายในระยะเวลา 5-10 ปี

หากส่องกล้องลำไส้ใหญ่ แล้วพบติ่งเนื้อ สามารถตัดติ่งเนื้อได้โดยวิธี  EMR และ ESD

ในกรณีที่ทำการส่องกล้องและพบติ่งเนื้อที่มีขนาดใหญ่ในลักษณะที่เหมาะสม สามารถทำการตัดติ่งเนื้อได้โดยวิธี  EMR (Endoscopic Mucosal Resection) และ ESD (Endoscopic Submucosal Dissection) ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถตัดติ่งเนื้อขนาดใหญ่ออกจากลำไส้ใหญ่ได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการเปิดแผลที่หน้าท้อง ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ลดระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ไว กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  ที่สำคัญคือ ไม่มีแผลเป็นที่หน้าท้อง

อย่างไรก็ตาม หากทำการส่องกล้องลำไส้ใหญ่แล้วพบติ่งเนื้อ แนะนำว่าควรเข้ารับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้บ่อยขึ้น โดยความถี่ในการส่องกล้องนั้นขึ้นอยู่กับจำนวนติ่งเนื้อ ขนาดของติ่งเนื้อ และชนิดของติ่งเนื้อ ควบคู่ไปกับดุลยพินิจของแพทย์ร่วมด้วย

การป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

ผู้ป่วยที่รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว  มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ทั้งจุดเดิมของโรคและบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนอื่นๆ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงต้องใส่ใจรับการตรวจติดตามโรคเป็นระยะๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งหลังการรักษานั้น แพทย์จะมีการติดตามผลเป็นระยะ

โดยในช่วง 2 ปีแรก แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 3 - 6 เดือน และในช่วง 3-5 ปีหลัง แพทย์จะนัดติดตามอาการทุก 6 เดือน ในการนัดแต่ละครั้งแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การถ่ายภาพเอกซเรย์ หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

ซึ่งแพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป  ผู้ป่วยควรมาตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอและควรนำญาติสายตรงหรือผู้ให้การดูแลผู้ป่วยมาด้วย เพื่อที่จะได้แบ่งปันข้อมูลและร่วมปรึกษาถึงการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมได้

นอกจากนั้น ผู้ป่วยควรลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดโรค โดยจำกัดการบริโภคเนื้อแดง และอาหารไขมันสูง  เพิ่มเกราะป้องกันให้ตัวเองโดยการบริโภค ผัก  ผลไม้ และอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ เรื่องอะไรได้บ้าง ? คลิกอ่านเพิ่มเติม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?